News

อสังหาริมทรัพย์ การโอนอสังหาริมทรัพย์โดยการเข้าถือกรรมสิทธิ์รวม

เลขที่หนังสือ : กค 0702/636
     
วันที่ : 23 มกราคม 2555
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์โดยการให้เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 50(6) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
๑. นาง ฉ. ได้จดทะเบียนให้ (โดยไม่มีค่าตอบแทน) ในที่โฉนดที่ดินกรุงเทพมหานคร ให้กับนาง ธ. ซึ่งมีฐานะเป็น ลูกสะใภ้ของนาง ฉ. โดยให้นาง ธ. เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินครั้งละหนึ่งส่วน รวมทั้งสิ้น ๓๐ ครั้ง เป็นจำนวน ๓๐ ส่วน (โดยมีการยื่นคำขอจดทะเบียนโอนทุกวัน เว้นเฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์) ซึ่งในการจดทะเบียนโอน ๓๐ ครั้งดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น ๒,๑๔๕,๖๐๐ บาท ซึ่งหากจดทะเบียนโอนที่ดิน ดังกล่าวในคราวเดียวกันทั้งแปลง พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นจำนวนเงิน ๙,๔๑๓,๘๐๐ บาท ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่เรียกเก็บไว้เป็นเงินจำนวน ๗,๒๕๙,๒๐๐ บาท
   
 ๒. กรมที่ดินพิจารณาแล้วเห็นว่า การจดทะเบียนด้วยวิธีการให้ผู้รับซึ่งมีฐานะเป็นลูกสะใภ้เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม เป็นส่วน ๆ แล้วต่อมา จดทะเบียนให้เฉพาะส่วนรวมทั้งสิ้น ๓๐ ครั้งเช่นนี้ ส่อเจตนาการหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ด้วยการกระจายฐานภาษีให้แคบลงเพื่อเสียภาษีเงินได้ในอัตราต่ำกว่าการจดทะเบียนโอนในคราวเดียวกัน ซึ่งในกรณีข้างต้น หากจดทะเบียนให้ที่ดินในคราวเดียวกันทั้งแปลง พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดยคำนวณ จากราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินทั้งแปลงเป็นจำนวนเงิน ๗๓,๐๙๒,๐๐๐ บาท คิดเป็นเงินภาษีเงินได้ที่ต้องเรียกเก็บ จำนวน ๙,๔๑๓,๘๐๐ บาท มากกว่าที่เรียกเก็บไว้ จำนวน ๗,๒๕๙,๒๐๐ บาท ดังนั้น เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รายดังกล่าวเป็นไปโดยถูกต้อง กรมที่ดินจึงขอหารือว่า การจดทะเบียนรายนี้มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย หรือไม่ และในกรณีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องเรียกเก็บภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย อย่างไร
     
แนววินิจฉัย : ๑กรณีที่นาง ฉ. ยกที่ดินให้นาง ธ. โดยไม่มีค่าตอบแทน โดยให้นาง ธ. เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวครั้งละ หนึ่งส่วน รวมทั้งสิ้น ๓๐ ครั้ง เป็นจำนวน ๓๐ ส่วน โดยมีการจดทะเบียนโอนสิทธิและนิติกรรม ณ กรมที่ดิน ทุกวัน เว้น เฉพาะวันหยุดเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น เห็นได้ว่า เจตนาที่แท้จริงของนาง ฉ. คือ ต้องการยกที่ดินให้แก่นาง ธ. โดยไม่ม ีค่าตอบแทนในคราวเดียวกันทั้งแปลง แต่ได้แสดงเจตนาโดยสมรู้ร่วมกันหรือกระทำขึ้นโดยสมยอมให้นาง ธ. เข้าถือครอง ที่ดินในแปลงดังกล่าวครั้งละหนึ่งส่วน เพื่อประโยชน์ในการลดจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ดังนั้น ในวันสุดท้ายที่มีการโอน นาง ฉ. ผู้โอนซึ่งถือเป็นผู้จ่ายเงินได้ตามมาตรา ๕๐(๖) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นำส่งต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรา ๕๒ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณตาม มูลค่าของที่ดินทั้งแปลงตามราคาประเมินทุนทรัพย์ตามมาตรา ๕๐(๕) แห่งประมวลรัษฎากร และให้นำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วก่อนหน้าวันสุดท้ายที่มีการโอน มาหักออกจากจำนวนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่คำนวณจากมูลค่าที่ดิน ทั้งแปลงได้
     
เลขตู้ :

75/37986