News

ค่าใช้จ่าย ประกัน บริษัทนายจ้างจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้พนักงาน

เลขที่หนังสือ : กค 0702/10407
     
วันที่ : 21 ธันวาคม 2552
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทนายจ้างจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้พนักงาน

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (3) และ (13) และมาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :

บริษัทฯ ประกอบกิจการให้คำปรึกษาทางการเงินแก่บริษัทอื่นๆ ได้เสนอโครงการประกันชีวิตแก่บริษัทลูกค้า ซึ่งโครงการประกันชีวิตดังกล่าว บริษัทนายจ้างจะต้องทำประกันชีวิตให้กับพนักงานทุกคนเป็นการทั่วไป และบริษัทนายจ้าง ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนพนักงานทุกคนจนครบกำหนดอายุกรมธรรม์ และถือเป็นสวัสดิการของพนักงาน กรมธรรม์ ประกันชีวิตดังกล่าว เป็นแบบชนิดสะสมทรัพย์ซึ่งบริษัทนายจ้างเป็นผู้ถือกรมธรรม์ และมีระยะเวลาชำระเบี้ยประกันและ ระยะเวลาให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ 21 ปีโดยพนักงานเป็นผู้เอาประกันภัยและเป็นผู้รับประโยชน์เมื่ออายุกรมธรรม์ ครบสัญญาหรือมีอายุครบเกษียณ หรือทายาทของพนักงานเป็นผู้รับประโยชน์กรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ทั้งนี้ตามระเบียบ สวัสดิการของบริษัทนายจ้าง

 

บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

 
1. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงานที่บริษัทนายจ้างจ่ายแทนพนักงานทุกคน บริษัทนายจ้างมีสิทธินำมาเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่
   
2. เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงานที่บริษัทนายจ้างจ่ายแทนพนักงานทุกคนนั้น พนักงานต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
   
3. ผลประโยชน์ที่พนักงานผู้เอาประกันหรือทายาทได้รับตามกรมธรรม์แล้วแต่กรณีพนักงานผู้เอาประกันภัยหรือทายาท ต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

 

     
แนววินิจฉัย :
1.

กรณีตาม 1.เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตของพนักงานที่บริษัทนายจ้างจ่ายแทนพนักงาน หากเป็นกรณีที่บริษัทนายจ้าง ต้องจ่ายให้แก่พนักงานทุกคนเป็นการทั่วไปตามระเบียบสวัสดิการของบริษัทนายจ้าง เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทนายจ้างแล้ว การจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าว จึงเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และไม่ใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็น การส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา บริษัทนายจ้างมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

   
2. กรณีตาม 2.เงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทนายจ้างจ่ายแทนพนักงานเข้าลักษณะเป็นประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจาก การจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าว มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48 (1) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
   
3. กรณีตาม 3.ผลประโยชน์ที่พนักงานผู้เอาประกันภัยหรือทายาทได้รับตามกรมธรรม์ประกันชีวิตแล้วแต่กรณี เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(13) แห่งประมวลรัษฎากร
     
เลขตู้ :

72/37063