News

ต่างชาติ vat ขายสินค้าในเขตอุตสาหกรรมส่งออก (EPZ)

เลขที่หนังสือ : กค 0706/พ./12212
     
วันที่ : 17 ธันวาคม 2550
     
เรื่อง :

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าในเขตอุตสาหกรรมส่งออก (EPZ)

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 77/1(11) มาตรา 82 มาตรา 78/2(1) มาตรา 82/14 มาตรา 83/8 มาตรา 79(4) มาตรา 105 และ มาตรา 105 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
บริษัท N จำกัด ตั้งอยู่ในเขต EPZ 2 ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทฯ นำเข้าสินค้าประเภท ทองเหลือง ทองแดง แสตนเลส และขายภายในประเทศ บริษัทฯ ขายทองแดงให้กับลูกค้าซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (BOI) บริษัทฯ ได้เรียก เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้า แต่ลูกค้าไม่ยอมชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเหตุให้บริษัทฯ ไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อชำระภาษีได้ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไร
     
แนววินิจฉัย :
1. กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก (EPZ) ขายสินค้าให้แก่ลูกค้า ซึ่งเป็นผู้นำสินค้าออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก (EPZ) โดยมิใช่เพื่อการส่งออกลูกค้าจึงเป็นผู้นำเข้า อยู่ในบังคับต้อง เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(11) และมาตรา 82 แห่งประมวลรัษฎากร และความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ตามมาตรา 78/2(1) และมาตรา 82/14 แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากลูกค้าเป็นผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หากลูกค้านำสินค้าดังกล่าวใช้เป็นวัตถุดิบ เพื่อใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก ลูกค้าจึงมีสิทธิวางประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ หรือพึงชำระแทนการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยลูกค้าจะใช้หนังสือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นเสมือนหนังสือค้ำประกันแทนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร และใช้หนังสือดังกล่าวเป็นหลักฐานในการถอนประกันได้ด้วยตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 20) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขการวางประกันภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
   
2. เนื่องจากค่าตอบแทนจากการขายสินค้าดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2535 ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่ต้องนำค่าตอบแทนที่ได้รับจากการขายสินค้ามารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องออกใบกำกับภาษี แต่มีหน้าที่ต้องออกใบรับและใบส่งของ ตามมาตรา 105 และมาตรา 105 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร
     
เลขตู้ :

70/35515