News

ทั่วไป การประกอบโรคศิลปะ 8

เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./2021
     
วันที่ : 16 มีนาคม 2553
     
เรื่อง :

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบกิจการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 81(1)(ญ) และมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร
     
ข้อหารือ :
1.

บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแก่ผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันและเรื้อรังในโรงพยาบาล โดยแพทย์และพยาบาลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญโรคไตโดยเฉพาะ ภายใต้การควบคุมมาตรฐานของโรงพยาบาลนั้นๆ ตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2543) เรื่อง มาตรฐานการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในสถานพยาบาล ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543

   
2. บริษัทฯ ได้ทำสัญญาจ้างบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมกับโรงพยาบาล ก. ตกลงรับจ้างบริการฟอกเลือดด้วย เครื่องไตเทียม โดยมีการแบ่งภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
   
 
2.1.

ส่วนของโรงพยาบาลฯ

   
 
(1)

โรงพยาบาลฯ เป็นเจ้าของสถานที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลฯ มีฐานะเป็นสถานพยาบาลของรัฐ และ ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

   
(2)

ผู้ป่วยที่เข้ามารับการล้างไต เพื่อรักษาและบำบัดโรคทุกคน ต้องขึ้นเวชระเบียนกับโรงพยาบาลฯ โดย ต้องมารับการรักษาและบำบัดโรคตามที่แพทย์สั่งเท่านั้น

   
(3) โรงพยาบาลฯ เป็นผู้ขายยา เวชภัณฑ์ทุกชนิดและให้บริการด้านอื่นๆ กับผู้ป่วยโดยตรง เช่น ตรวจเลือด X-Ray ผู้ป่วยนอนค้างคืน เป็นต้น
   
(4) โรงพยาบาลฯ เป็นผู้เก็บค่ารักษาพยาบาล ออกใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ หรือใบเบิกต้นสังกัด ทุกประเภท
   
(5) โรงพยาบาลฯ และบริษัทฯ แบ่งค่ารักษาพยาบาลในการฟอกเลือดที่เก็บจากผู้ป่วยต่อรายตามที่ตกลง ในสัญญา ซึ่งกำหนดให้จ่ายค่าจ้างทุกวัน โดยบริษัทฯ ต้องยื่นใบแจ้งหนี้พร้อมสรุปรายละเอียดยอดผู้ป่วยเข้าใช้บริการและจำนวน เงินค่าจ้างในแต่ละงวดให้โรงพยาบาลฯ ทราบ ในการชำระค่าจ้าง โรงพยาบาลฯ จะหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกครั้ง
   
2.2.

ส่วนของบริษัทฯ

   
 
(1)

บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาพื้นที่ภายในอาคารของโรงพยาบาลฯ ที่มีขนาดเหมาะสมกับการติดตั้งเครื่องไตเทียม และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อให้บริการฟอกไตเทียม

   
(2)

บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาเครื่องฟอกไตเทียม พร้อมอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มีมาตรฐานตามกำหนดของ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย

   
(3) บริษัทฯ เป็นผู้จัดหาระบบเตรียมน้ำบริสุทธ์ สำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมตามมาตรฐานของ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย
   
(4) บริษัทฯ จัดหาบุคลากร ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโรคไตอย่างน้อย 1 คน ต่อหนึ่งเวร พยาบาลผู้เชี่ยวชาญไตเทียมอย่างน้อย 1 คนต่อการดูแลผู้ป่วย 4 คนต่อเวร พยาบาลช่วยการพยาบาลอย่างน้อย 1 คนต่อเวร โดยบริษัทฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งตามมาตรฐานการฟอกเลือดล้างไตเทียมของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย แพทย์และ พยาบาลจะต้องมีใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาอายุรศาสตร์โรคไต และหลักสูตรพยาบาลไตเทียมด้วย
   
(5) บริษัทฯ ให้บริการเสริมสำหรับการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในกรณีที่โรงพยาบาลฯ ไม่สามารถให้บริการได้
   
(6) บริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ของใช้สิ้นเปลืองทุกชนิดที่ต้องใช้ในการฟอกเลือด

บริษัทฯ ได้หารือว่า

1.

การประกอบกิจการของบริษัทฯ ถือเป็นการประกอบโรคศิลปะที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

   
2. สัญญาดังกล่าวของบริษัทฯ เป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งอยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ถูกต้องหรือไม่
     
แนววินิจฉัย :

หากบริษัทฯ มิได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 การให้บริการฟอกเลือดของบริษัทฯ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ญ) แห่งประมวลรัษฎากร

 
กรณีบริษัทฯ ทำสัญญาจ้างกับโรงพยาบาลฯ โดยบริษัทฯ ตกลงรับจ้างบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เข้าลักษณะเป็น สัญญาจ้างทำของ ตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นตราสารที่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ ตามมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร
     
เลขตู้ :

73/37206