News

ค่าใช้จ่าย การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา เครื่องจักร

เลขที่หนังสือ : กค 0702/570
     
วันที่ : 20 มกราคม 2553
     
เรื่อง :

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร

     
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ (ข) มาตรา 65 ตรี พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.58/2538ฯ
     
ข้อหารือ :
1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตแกนเหล็กอ่อนตัวนำไฟฟ้า ได้ซื้อแม่พิมพ์เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าจำนวน 3 เครื่อง ราคาเครื่องละ 200,000 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2540 และได้คำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทางบัญชีด้วยวิธีประมาณการจำนวนหน่วยผลิต แต่ในทางภาษีอากรบริษัทฯ จะคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ปีละ 40,000 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี
     
2. แม่พิมพ์เครื่องที่ 3 ได้บันทึกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ได้เพียงปีที่ 1 จำนวน 835 บาท ในปีที่ 2 แม่พิมพ์ ได้ชำรุดไม่สามารถใช้การได้ บริษัทฯ จึงได้บันทึกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทางบัญชี จำนวน 199,165 บาท แต่ในทาง ภาษีอากร ยังคงบันทึกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามเดิม โดยไม่ได้ทำการตัดบัญชีออกจากทะเบียนทรัพย์สินถาวร
   
บริษัทฯ จึงหารือว่า การบันทึกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาดังกล่าวของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
     
แนววินิจฉัย :
1. กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากรนั้น ให้คำนวณหักตามระยะเวลาที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี แต่ต้องไม่เกินอัตรา ร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามประเภทของทรัพย์สิน และเมื่อบริษัทฯ ได้เลือกที่จะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน โดยใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป บริษัทฯ จะต้องใช้วิธีการทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไป จะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้รับ อนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย และในกรณีที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงได้ ให้ถือปฏิบัติ ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
     
2. กรณีแม่พิมพ์เครื่องที่ชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้อีก บริษัทฯ ต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 บริษัทฯ จะนำมูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินนั้นตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนไม่ได้ ต้องหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาต่อไปจนหมด แต่หากได้มีการทำลายหรือขายไปซึ่งทรัพย์สินนั้น บริษัทฯ มีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำราคาขายทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษี เงินได้นิติบุคคลด้วย ทั้งนี้ ตามข้อ 1 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 58/2538 เรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดมูลค่าต้นทุนที่ เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่สูญหายหรือชำรุดจนไม่สามารถใช้งานได้ ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2538
     
เลขตู้ :

73/37109